top of page
  • Line
Search

บทความ - เรื่องไม่ใหม่ที่กฎหมายอนุญาโตตุลาการไทยไม่มี : มาตรการคุ้มครองชั่วคราวโดยอนุญาโตตุลาการ (An


เรื่องไม่ใหม่ที่กฎหมายอนุญาโตตุลาการไทยไม่มี : มาตรการคุ้มครองชั่วคราวโดยอนุญาโตตุลาการ

An Absence in Thai Arbitration Law : Interim Measures Ordered by Arbitral Tribunal

________________________________________________________________________________

Waraporn Thong-intr

ผู้แต่ง*[1]



บทคัดย่อ

มาตรการคุ้มครองชั่วคราวในกระบวนพิจารณาทางอนุญาโตตุลาการเป็นมาตรการที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนั้นเป็นคำสั่งที่ออกโดย “คณะอนุญาโตตุลาการ” ซึ่งหลักการดังกล่าวปรากฎอยู่ใน UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration 1985 with amendments as adopted in 2006 ที่ได้มีการเพิ่มบทบัญญัติใหม่ใน Chapter IV A. Interim Measures and Preliminary Ordersซึ่งได้วางหลักการเกี่ยวกับการให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจในการออกคำสั่งคุ้มชั่วคราวและคำสั่งเบื้องต้นได้ โดยการเพิ่มเติมบทบัญญัติในครั้งนี้เป็นการแทนที่บทบัญญัติใน Article 17 เดิมในปี ค.ศ. 1985 ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้เฉพาะศาลเท่านั้นที่มีอำนาจให้ความคุ้มครองชั่วคราวในชั้นอนุญาโตตุลาการได้

พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ได้ยกร่างขึ้นโดยอาศัยกฎหมายต้นแบบคือ UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration 1985 แต่เมื่อกฎหมายต้นแบบมีการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องมาตรการคุ้มครองชั่วคราวโดยอนุญาโตตุลาการแล้ว ยังไม่ปรากฎว่าพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ได้มีการปรับปรุงเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายต้นแบบแต่อย่างใด ทั้งที่หลักการเช่นว่านี้มีความจำเป็นและเป็นที่ยอมรับในการนำไปใช้กับกฎหมายอนุญาโตตุลาการในแต่ละประเทศ จุดประสงค์เพื่อให้กระบวนการระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วตรงตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญาที่ได้ตัดสินใจเลือกระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการแทนการดำเนินกระบวนพิจารณาทางศาล

ดังนั้น จึงควรแก้ไขพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ให้สอดคล้องกับกฎหมายต้นแบบ UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration 1985 with amendments as adopted in 2006 โดยให้มีบทบัญญัติรองรับการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยคณะอนุญาโตตุลาการเช่นเดียวกัน

คำหลัก : มาตรการคุ้มครองชั่วคราว อนุญาโตตุลาการฉุกเฉิน พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการพ.ศ. 2545

ABSTRACT

Currently, interim measures during arbitration proceeding is very important, especially if such measures is ordered by the “Arbitral Tribunal”. The principal of interim measures ordered by arbitral tribunal are appeared in UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration 1985 with amendments as adopted in 2006, additional a new principal, Chapter IV A. Interim Measures and Preliminary Orders which are relating to interim measures and preliminary ordered may granted by the arbitral tribunal. The new provision was replaced Article 17 of the original 1985 version that only court are competent to grant an interim measures of protection.

The Arbitration Act B.E. 2545 is based on the UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration 1985. After the revision of Model Law on interim measures ordered by arbitral tribunal, there is no any amendment on Arbitration Act B.E. 2545 to be line with the revision of Model Law even though such measures are necessity and acknowledged to apply with each country’s arbitration law for the purpose of fast track in arbitration process as per the parties intention to determine the arbitration instead of court proceedings.

For the harmonization and improvement of arbitration law based on UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration 1985 with amendments as adopted in 2006, it is necessary to amend Arbitration Act B.E. 2545 which provides the competent of arbitral tribunal to issue an interim measures same as court.

Keyword : Interim Measures, Emergency Arbitrator, Arbitration Act B.E. 2545

บทนำ

การอนุญาโตตุลาการของไทยปรากฏหลักฐานไว้ในกฎหมายตราสามดวงซึ่งมีการบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งตุลาการโดยคู่ความ และต่อมาในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2477 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เรื่องอนุญาโตตุลาการในศาลและนอกศาลไว้ กับทั้งได้มีการตราพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดนอกศาล และประเทศไทยได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2545 ด้วยเหตุที่ว่าพระราชบัญญัติฉบับเดิมนั้น มีการใช้มาอย่างยาวนานไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่สอดคล้องกับกฎหมายอนุญาโตตุลาการประเทศอื่นด้วยสมควรปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเสียใหม่ โดยนำกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าแห่งสหประชาชาติ (Model Law on International Commercial Arbitration of the United Nations Commission on International Trade Law) ซึ่งเป็นที่ยอมรับและรู้จักอย่างกว้างขวางมาเป็นหลักเพื่อพัฒนาระบบอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และส่งเสริมให้มีการใช้กระบวนการทางอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์ระหว่างประเทศให้แพร่หลายยิ่งขึ้น อันจะเป็นการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นมาสู่ศาลอีกทางหนึ่ง[2]

ต่อมากฎหมายต้นแบบ[3]ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าแห่งสหประชาชาติ ได้มีการแก้ไขในปี ค.ศ. 2006 โดยได้เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วย“มาตรการคุ้มครองชั่วคราว” หรือ interim measures ไว้ใน Article 17H, 17I ,17J ซึ่งสาเหตุที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื่องจากเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นเพราะในทางปฏิบัตินั้นมีการร้องขอเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวสำหรับการอนุญาโตตุลาการการค้าระหว่างประเทศเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยการแก้ไขปรับปรุงครั้งนี้ได้รวมถึงหลักเกณฑ์การบังคับใช้ (enforcement regime) สำหรับมาตรการเช่นว่านี้ซึ่งต้องยอมรับว่ากระบวนการอนุญาโตตุลาการที่มีประสิทธิภาพนั้นขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ในการบังคับตามมาตรการชั่วคราวที่ได้ออกมาด้วย[4]

มาตราการคุ้มครองชั่วคราวในการอนุญาโตตุลาการในปัจจุบันได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มที่จะมีการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการเพิ่มมากขึ้นด้วย สาเหตุเนื่องจากคู่สัญญาหรือคู่พิพาทจะได้รับความสะดวกโดยไม่จำต้องร้องขอการคุ้มครองชั่วคราวผ่านศาลเท่านั้น และเหตุประโยชน์อื่นอีกหลายประการดังที่จะได้กล่าวต่อไป ด้วยเหตุนี้เพื่อให้กฎหมายอนุญาโตตุลาการของประเทศไทยมีความทันสมัย และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้รับการยอมรับจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น จึงเห็นควรที่จะเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราการคุ้มครองชั่วคราวสำหรับกฎหมายอนุญาโตตุลาการของประเทศไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบกฎหมายให้ก้าวทันโลกยุคปัจจุบันอย่างไรก็ดี การเสนอเกี่ยวกับแก้ไขเพิ่มเติมมาตราการคุ้มครองชั่วคราวตามบทความนี้ จะยังคงยึดถือกฎหมายต้นแบบอยู่เฉกเช่นในต่างประเทศที่มีการแก้ไขให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับกฎหมายต้นแบบแล้วนั้น และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปรับปรุงให้มากยิ่งขึ้นจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษากฎหมายอนุญาโตตุลาการของประเทศสิงคโปร์ รวมทั้งข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการชั้นนำควบคู่กันไปด้วย อาทิเช่น Singapore International Arbitration Centre (SIAC) และ International Chamber of Commerce (ICC) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอนุญาโตตุลาการของประเทศไทยสามารถบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ และมีข้อบกพร่องน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังจะกล่าวในเนื้อหาต่อไป

บทบาทของศาลในเรื่องการอนุญาโตตุลาการ

บทบาทของศาลตาม UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration 1985[5] ที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ศาลจะต้องไม่เข้ามาแทรกแซงกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เว้นแต่มีบทบัญญัติไว้[6] ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการอนุญาโตตุลาการในปัจจุบันที่ยึดถือสิทธิเสรีภาพของคู่สัญญาในการกำหนดวิธีหรือกระบวนการทางการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งทำให้บทบาทของศาลถูกจำกัดไว้ ซึ่งกรณีที่ศาลจะเข้ามามีบทบาทหรือแทรกแซงกระบวนการอนุญาโตตุลาการก็แต่เฉพาะกรณีเพื่อช่วยเหลือให้ความสะดวกเท่านั้น สำหรับหน้าที่ที่ศาลจะต้องให้ความช่วยเหลือในการอนุญาโตตุลาการนั้นมีอยู่หลายประการหนึ่งในนั้นก็คือเรื่อง “มาตรการคุ้มครองชั่วคราว” ซึ่งตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 16 ได้วางหลักไว้เช่นเดียวกับ Model Law 1985 Article 9[7]เดิมก่อนมีการแก้ไขในปี ค.ศ. 2006 ซึ่งถือว่าเรื่องการคุ้มครองชั่วคราวนั้นเป็นอำนาจของศาลในการมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวโดย Article 9 ได้วางหลักการเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่อาจจะได้รับจากศาลซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีของประเทศนั้น ๆ สามารถใช้ได้กับกรณีสัญญาอนุญาโตตุลาการเช่นเดียวกัน ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้ศาลในแต่ละประเทศเป็นผู้ให้ความคุ้มครองชั่วคราวตราบเท่าที่สอดคล้องเหมาะสมในระหว่างการให้ความคุ้มครองชั่วคราวโดยศาล และเป็นไปตามสัญญาอนุญาโตตุลาการเท่าที่สามารถทำได้ไม่ว่าสถานที่ทำการอนุญาโตตุลาการ (place of arbitration) จะเกิดขึ้นที่ใดและไม่ให้ถือว่าการร้องขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวซึ่งอาจจะทำโดยศาลภายใต้ Model Law นั้นเป็นการสละสิทธิ์หรือคัดค้านต่อการมีอยู่ หรือมีผลกระทบต่อสัญญาอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี Model Law 1985 Article 9 เดิมก่อนมีการแก้ไขในปี ค.ศ. 2006 นั้นได้ให้อำนาจเฉพาะแก่ศาลเท่านั้นที่มีอำนาจในการให้ความคุ้มครองชั่วคราวได้ ซึ่งเมื่อได้มีการแก้ไข Model Law ในปี ค.ศ. 2006 โดยมีการเพิ่มบทบัญญัติใหม่คือ Chapter IV A. Interim Measures and Preliminary Orders[8]ซึ่งหลักการใหม่ดังกล่าวได้ให้อนุญาโตตุลาการมีอำนาจในการให้ความคุ้มครองชั่วคราวและคำสั่งเบื้องต้นได้ด้วยเช่นกัน การเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการแทนที่ Article 17 ตามต้นฉบับเดิมของ Model Law 1985[9] โดย Chapter IV A. เป็นเรื่องเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวและคำสั่งเบื้องต้นโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

Section 1 กำหนดคำนิยามทั่วไปของมาตรการคุ้มครองชั่วคราว และกำหนดเงื่อนไขสำหรับการให้ความคุ้มครองชั่วคราว

Section 2 ว่าด้วยเรื่องการยื่นคำขอ และเงื่อนไขสำหรับการออกคำสั่งเบื้องต้นสำหรับคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องขอจนกว่าคณะอนุญาโตตุลาการจะมีมติออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หรือแก้ไขคำสั่งเบื้องต้นนั้น หรืออีกความหมายหนึ่งคือ คำสั่งเบื้องต้น (preliminary order) เป็นการคุ้มครองประโยชน์ของคู่พิพาทในระหว่างที่รอคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาคำขอเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราว (interim measure) เนื่องจากก่อนที่จะมีคำสั่งดังกล่าวได้ต้องมีการแจ้งให้คู่พิพาทอีกฝ่ายทราบก่อนและจะต้องทำการไต่สวนว่ามีเหตุที่คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ร้องขอได้หรือไม่ ซึ่งคำสั่งเบื้องต้นไม่ได้เป็นมาตรการเบื้องต้นก่อนมีคำชี้ขาด แต่เป็นมาตรการเบื้องต้นก่อนมีคำสั่งเกี่ยวกับการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในระหว่างพิจารณา ซึ่งเงื่อนไขต่าง ๆ เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน Article 17 B (1), 17 B (2) และ 17 C นอกจากนั้น ความหมายของคำว่า “คำสั่งเบื้องต้น” ที่ใช้ก็เพียงต้องการที่จะเน้นย้ำในเรื่องระยะเวลาผูกพันคู่พิพาทที่มีอย่างจำกัด ซึ่งคำสั่งเบื้องต้นในทุกกรณีจะมีระยะเวลาคุ้มครองซึ่งผูกผันคู่กรณีได้ไม่เกินกว่า 20 วัน และคำสั่งเช่นว่านั้นจะไม่ตกอยู่ภายใต้คำบังคับของศาล และไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำชี้ขาดแต่อย่างใด

Section 3 กำหนดกฎเกณฑ์ที่ใช้สำหรับทั้งคำสั่งเบื้องต้น และมาตรการคุ้มครองชั่วคราว

Section 4 เป็นพัฒนาการที่สำคัญในเรื่องการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับวิธีการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการยอมรับและบังคับตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่เหมาะสมซึ่งมีต้นแบบมาจากหลักเกณฑ์สำหรับการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดภายใต้ Article 35 และ 36 ของ Model Law

Section 5 กรณีตาม Article 17 J เกี่ยวกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยศาลสำหรับการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ให้ศาลมีอำนาจในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยไม่ต้องคำนึงว่าสถานที่ของศาลที่ออกคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นที่เดียวกันกับสถานที่ที่ทำการอนุญาโตตุลาการหรือไม่ โดยให้มีวิธีพิจารณาเช่นเดียวกับการดำเนินการในศาล”

บทบัญญัติที่เพิ่มเติมขึ้นในปี ค.ศ. 2006 นี้ ก็เพื่อทำให้ปราศจากข้อสงสัยถึงการมีอยู่ของสัญญาอนุญาโตตุลาการว่าไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดอำนาจที่มีอยู่ของศาลในการที่จะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตามสัญญาอนุญาโตตุลาการมีสิทธิเสรีภาพในการร้องขอต่อศาลให้ทำการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้เช่นกัน[10]

มาตรการคุ้มครองชั่วคราวของประเทศไทยตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 16 ได้เดินรอยตาม Model Law Article 9 ก่อนมีการแก้ไขเป็นต้นแบบ โดยได้กำหนดให้เป็นอำนาจของศาลในการสั่งเรื่องการคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งบทบัญญัติในมาตรา 16 บัญญัติว่า

“คู่สัญญาที่ได้ทำสัญญาอนุญาโตตุลาการไว้อาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้มีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนก่อนหรือขณะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการได้ ถ้าศาลเห็นว่ากระบวนพิจารณานั้นหากเป็นการพิจารณาของศาลแล้วศาลทำให้ได้ก็ให้ศาลจัดการให้ตามคำร้องนั้น ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความของศาล ในส่วนที่เกี่ยวกับการนั้นมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งตามคำร้องของคู่สัญญาตามวรรคหนึ่ง ถ้าคู่สัญญาฝ่ายที่ยื่นคำร้องมิได้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดให้ถือว่าคำสั่งนั้นเป็นอันยกเลิกเมื่อครบกำหนดดังกล่าว”

สาระสำคัญของมาตรา 16 คือ การคุ้มครองชั่วคราวสามารถกระทำก่อนหรือขณะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก็ได้ สำหรับในส่วนของเงื่อนไขในการที่ศาลจะมีคำสั่งหรือไม่นั้นให้นำบทบัญญัติในกรณีการพิจารณาคดีในศาลมาบังคับใช้โดยอนุโลม หมายถึง หากเป็นกรณีการดำเนินคดีในศาลแล้ว ศาลจะสั่งได้หรือไม่ประการใดก็ให้ดำเนินการเช่นเดียวกัน

โดยวิธีการขอคุ้มครองชั่วคราวตาม มาตรา 16 ให้นำประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเป็นการอนุโลม ซึ่งเรื่องการขอคุ้มครองชั่วคราวอยู่ภายใต้ ภาค 4 ลักษณะ 1 มาตรา 253-270 ซึ่งเป็นวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา หมายความว่า ในการขอคุ้มครองชั่วคราวนั้นโจทก์จะต้องยื่นคำฟ้องมาพร้อมกับคำร้องเพื่อคุ้มครองชั่วคราว และในทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โจทก์มักจะยื่นคำขอในเหตุฉุกเฉินตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 266 เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนในทันที

สำหรับการนำวิธีพิจารณาความแพ่งมาปรับใช้กับกรณีการขอคุ้มครองชั่วคราวในทางอนุญาโตตุลาการ คู่พิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการอาจยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้มีคำสั่งใช้วิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของตนก่อนหรือขณะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการได้ เมื่อศาลรับคำร้องแล้วจะต้องทำการไต่สวน โดยในกรณีขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีปกติถ้าคู่ความอยู่ในเขตอำนาจศาล ศาลจะนัดไต่สวนภายใน 30 วัน นับแต่ยื่นคำร้อง หากอยู่นอกเขตอำนาจศาล ศาลจะนัดไต่สวนภายใน 45 วันนับแต่ยื่นคำร้อง สำหรับกรณีขอคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉิน ศาลจะนัดไต่สวนคำร้องภายในวันที่ยื่นคำร้องแต่ไม่เกิน 7 วันนับแต่วันยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ “การบังคับใช้มาตรการคุ้มครองชั่วคราว” ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

1. ไม่มีบทบัญญัติเรื่องมาตรการคุ้มครองชั่วคราวใน New York Convention ทำให้การบังคับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวไม่อยู่ภายใต้บังคับของ New York Convention ดังนั้น ผู้ถูกบังคับตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวจึงไม่สามารถอ้างเหตุต่าง ๆ มาปฏิเสธการบังคับได้[11]

2. เนื่องจาก พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายไว้เช่นเดียวกับ Model Law Article 1 (2)[12] ซึ่งกำหนดให้เรื่องการคุ้มครองชั่วคราวสามารถใช้บังคับได้ไม่ว่าการอนุญาโตตุลาการจะกระทำให้ประเทศใด ๆ ก็ตาม เช่นเดียวกับคำชี้ขาดนั่นเอง ดังนั้นจึงเกิดความไม่ชัดเจนว่าศาลไทยจะสามารถคุ้มครองชั่วคราวให้คู่พิพาทที่กำลังดำเนินการอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น คู่พิพาทดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ประเทศอังกฤษ แต่เนื่องจากทรัพย์สินที่พิพาทอยู่ในประเทศไทยจึงจำต้องร้องขอให้ศาลในประเทศไทยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งกรณีนี้เป็นกรณีที่คู่พิพาทฝ่ายหนึ่งมีทรัพย์สินในประเทศไทยซึ่งศาลประเทศอื่นไม่มีอำนาจสั่งคุ้มครองชั่วคราวทรัพย์สินในประเทศไทยได้

3. ถึงแม้ว่ามาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่ออกโดยอนุญาโตตุลาการนั้นมีบทบัญญัติของกฎหมายรองรับ แต่หากคู่พิพาทไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งเช่นว่านั้น ก็จะต้องมีการขอให้ศาลบังคับตามคำสั่งอนุญาโตตุลาการ ซึ่งอาจทำให้เสียเวลามากขึ้น

จึงเห็นได้ว่าภายหลังที่ Model Law ได้มีการแก้ไขปรับปรุงในปี ค.ศ. 2006 เรื่องอำนาจของอนุญาโตตุลาการให้สามารถออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและคำสั่งเบื้องต้นได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ประเทศไทยยังมิเคยทำการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องดังกล่าวสำหรับ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลการ พ.ศ. 2545 ให้สอคคล้องกับกฎหมายต้นแบบแต่อย่างใด ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่จะพัฒนาระบบการอนุญาโตตุลาการให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากเหตุผลที่ว่าการร้องขอต่ออนุญาโตตุลาการในการให้ความคุ้มครองชั่วคราวและคำสั่งเบื้องต้นน่าจะสามารถกระทำได้รวดเร็วกว่าการที่คู่พิพาทจะต้องไปทำการร้องขอต่อศาล เพราะว่าคณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ที่รับทราบเรื่องที่พิพาทนั้นจากคู่สัญญาที่ได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทางอนุญาโตตุลาการแล้ว จึงได้ทราบถึงรายละเอียดและข้อเท็จจริงเบื้องต้นเป็นการพอสมควรที่จะนำไปประกอบการพิจารณาและออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้อย่างรวดเร็ว แต่กรณีที่ศาลเป็นผู้ได้รับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ศาลมักจะยังไม่มีคำเสนอข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการจึงอาจมีปัญหาในทางไต่สวนคำร้องที่จะต้องกระทำโดยความระมัดระวังในเรื่องความสมบูรณ์ของข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการก่อน แล้วจึงไต่สวนว่าข้อพิพาทมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวมาใช้ตามคำร้องหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสำหรับการพิจารณาสำนวนและไต่สวนมากกว่าการดำเนินการโดยคณะอนุญาโตตุลาการไปในทันที

มีข้อน่าสังเกตสำหรับกฎหมายอนุญาโตตุลาการในส่วนที่ว่าด้วยเรื่องกระบวนการอนุญาโตตุลาการซึ่งหลักเกณฑ์ในส่วนนี้จะมีความสัมพันธ์กับข้อบังคับในการดำเนินการอนุญาโตตุลาการของคู่สัญญาเป็นอย่างมาก กล่าวคือ การเลือกใช้ข้อบังคับทั้งแบบที่คู่สัญญาจัดทำขึ้นสำหรับกรณีที่ดำเนินการอนุญาโตตุลาการเอง หรือเลือกใช้ข้อบังคับของสถาบันต่าง ๆ สำหรับกระบวนการอนุญาโตตุลาการแบบสถาบันก็ตาม ข้อบังคับเช่นว่านี้จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของกฎหมายอนุญาโตตุลาการที่มีลักษณะเด็ดขาด (mandatory provision) ซึ่งคู่สัญญาไม่สามารถตกลงเป็นอย่างอื่นได้ ในกรณีที่ข้อบังคับที่ได้ตกลงกันมีลักษณะขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติกฎหมายที่มีลักษณะเด็ดขาด ในส่วนที่ขัดหรือแย้งนั้นไม่สามารถที่จะบังคับได้ ทำให้อาจส่งผลกระทบถึงความล่าช้าของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ หรืออาจเป็นเหตุให้คำสั่ง หรือคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่สามารถบังคับได้ หรืออาจถูกเพิกถอนได้ด้วย จากหลักการนี้เองทำให้มีความจำเป็นที่กฎหมายอนุญาโตตุลาการต้องบัญญัติในเรื่องการให้อำนาจอนุญาโตตุลาการในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ คู่สัญญาไม่สามารถตกลงยินยอมระหว่างกันเองที่จะยอมรับการสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยอนุญาโตตุลาการได้แต่อย่างใด ส่วนในเรื่องข้อบังคับนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันในการออกกฎระเบียบข้อบังคับสำหรับวิธีการปฏิบัติของกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายในประเทศนั่นเอง

ปัญหาเกี่ยวกับ “มาตรการคุ้มครองชั่วคราว” โดยอนุญาโตตุลาการในกรณีก่อนการตั้งอนุญาโตตุลาการแล้วเสร็จ

ข้อสังเกตที่สำคัญอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับการให้อนุญาโตตุลาการมีอำนาจให้ความคุ้มครองชั่วคราวได้นั้น มีประเด็นที่ควรพิจารณาคือ การขอให้อนุญาโตตุลาการสั่งนั้นจะกระทำได้ก็แต่เฉพาะกรณีที่มีการตั้งอนุญาโตตุลาการเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หากยังไม่สามารถตั้งอนุญาโตตุลาการคู่พิพาทก็ไม่สามารถร้องขอการให้ความคุ้มครองชั่วคราวและคำสั่งเบื้องต้นตาม Model Law Article 17-17J ได้ ซึ่งถือเป็นช่องว่างสำหรับวิธีการดำเนินการอนุญาโตตุลาการที่เห็นว่ายังไม่สมบูรณ์ อันอาจทำให้คู่พิพาทจำต้องกลับไปร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตั้งแต่ในครั้งแรกเหมือนเช่นเดิมนั่นเอง

แต่อย่างไรตาม เมื่อทำการศึกษาและเปรียบเทียบกับกฎหมายการอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศที่อ้างอิงกฎหมายต้นแบบ หรือ Model Law เพื่อมาปรับใช้กับกฎหมายการอนุญาโตตุลาการของประเทศตนเอง พบว่าการดำเนินคดีแบบระบบกฎหมายคู่ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้แยกกฎหมายการอนุญาโตตุลาการภายในประเทศ และการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศออกจากกันอย่างชัดเจนนั้น กฎหมายอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของประเทศสิงคโปร์ได้ให้อำนาจอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวได้ตามมาตรา 12 (1)[13] ประกอบกับข้อบังคับของสถาบัน Singapore International Arbitration Centre[14] Article 30.1[15]เช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นกรณีที่การตั้งอนุญาโตตุลาการยังไม่แล้วเสร็จ ข้อบังคับของสถาบัน SIAC ยังได้กำหนดวิธีการตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนที่จะมีการตั้งอนุญาโตตุลาการแล้วเสร็จไว้อีกด้วย[16] โดยข้อบังคับของสถาบัน SIAC Article 30.2 ได้กำหนดให้คู่สัญญาที่ประสงค์จะขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินก่อนที่จะมีการตั้งอนุญาโตตุลาการแล้วเสร็จอาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองในกรณีดังกล่าวได้ตามกระบวนการที่ได้กำหนดไว้ใน Schedule 1[17]ซึ่งตาม Schedule 1 ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน โดยคู่พิพาทสามารถยื่นคำร้องขอต่อเจ้าหน้าที่สถาบัน (Registrar) หากประธานของสถาบันพิจารณาแล้วเห็นว่าควรรับคำร้องขอดังกล่าวสำหรับการขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินก็ให้ทำการตั้ง “อนุญาโตตุลาการฉุกเฉิน” (Emergency Arbitrator) ภายใน 1 วันนับจากวันที่เจ้าหน้าที่สถาบันได้รับเอกสารคำร้องขอพร้อมทั้งค่าธรรมเนียมที่ได้ชำระแล้วทันที โดยอนุญาโตตุลาการในกรณีฉุกเฉินต้องมีคำสั่งภายใน 14วันนับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้ง

นอกจากหลักเกณฑ์ที่ให้อำนาจอนุญาโตตุลาการสามารถให้ความคุ้มครองชั่วคราวตาม Model Law และกฎหมายการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของสิงคโปร์ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น การอนุญาโตตุลาการอันเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีอีกสถาบันหนึ่งคือ สถาบันอนุญาโตตุลาการของหอการค้านานาชาติ หรือ ICC (International Chamber of Commerce) โดยคู่พิพาทที่เลือกใช้การดำเนินการอนุญาโตตุลาการภายใต้สถาบัน ICC จะต้องปฏิบัติตาม “ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของหอการค้านานาชาติ” (ICC Rules of Arbitration)[18]ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวในปัจจุบันมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2012 เป็นต้นมาโดยที่ ICC Rules มีบทบัญญัติในหลักเกณฑ์อันเกี่ยวกับ “วิธีการคุ้มครองและมาตราการชั่วคราว” ภายใต้ Article 28[19]เช่นเดียวกับสถาบัน SIAC ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่ง ICC Rules เองก็มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อให้สั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนที่คู่พิพาทจะตั้งอนุญาโตตุลาการแล้วเสร็จได้เช่นกัน หรือที่เรียกว่า “อนุญาโตตุลาการในกรณีฉุกเฉิน” (Emergency Arbitrator) หลักเกณฑ์นี้ปรากฎใน ICC Rules Article 29 ซึ่งกำหนดไว้ว่ากรณีที่คู่พิพาทจำเป็นต้องใช้วิธีการคุ้มครองหรือมาตรการชั่วคราวเป็นการเร่งด่วน โดยไม่สามารถรอให้มีการจัดตั้งอนุญาโตตุลาการได้ (“การคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน”) อาจยื่นคำร้องขอสำหรับมาตรการฉุกเฉินดังกล่าวตามที่ได้ระบุไว้ใน Appendix V[20] Article 2 (1) โดยได้ให้อำนาจประธานของสถาบันแต่งตั้ง “อนุญาโตตุลาการในกรณีฉุกเฉิน” ภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งโดยปกติคือต้องตั้งอนุญาโตตุลาการให้แล้วเสร็จภายใน 2 วัน นับแต่วันที่สำนักเลขาธิการ (Secretariat) ได้รับคำร้องเช่นว่านั้น จากหลักเกณฑ์ที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ICC Rules และ SIAC Rules ต่างมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในเรื่องการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติอันเกี่ยวกับมาตการคุ้มครองชั่วคราวทั้งในกรณีปกติ คือมีการตั้งอนุญาโตตุลาการเรียบร้อยแล้ว และกรณีก่อนการตั้งอนุญาโตตุลาการแล้วเสร็จซึ่งได้ให้อำนาจประธานสถาบันสามารถตั้งอนุญาโตตุลาการในกรณีฉุกเฉินได้ ทั้งนี้ มาตรการดังที่ได้กล่าวมานี้จะสามารถช่วยให้การนำคดีพิพาทเข้าสู่กระบวนพิจารณาทางอนุญาโตตุลาการมีข้อที่ได้เปรียบมากกว่าการนำคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีทางศาล นอกจากนั้น มาตรการดังกล่าวยังตอกย้ำในเรื่องของข้อดีสำหรับการนำกรณีพิพาทเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยอนุญาโตตุลาการคือ “ความรวดเร็ว” ของกระบวนการพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการปกป้องคุ้มครองคู่สัญญาที่เกิดประเด็นพิพาทขึ้นได้อย่างทันท่วงที เพราะการค้าระหว่างประเทศอันเกิดจากนิติสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนในการเข้าทำสัญญาทางการค้าระหว่างกันนั้น โดยทั่วไปแล้วสัญญามักจะมีมูลค่ามหาศาล และคู่สัญญาอาจจะได้รับความเสียหายจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งหากกระบวนการพิจารณาคดีพิพาทในทางอนุญาโตตุลาการไม่สามารถคุ้มครองหรือปกป้องคู่พิพาทฝ่ายที่อาจจะได้รับความเสียหายได้ทั้งก่อนหรือขณะการดำเนินกระบวนพิจารณาแล้ว คู่พิพาทก็ไม่อาจถือเอาประโยชน์จากการที่ตนตัดสินใจเลือกการนำคดีเข้าสู่การอนุญาโตตุลาการแทนการดำเนินคดีโดยศาลแต่อย่างใด

มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจในเรื่องของคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยอนุญาโตตุลาการที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย[21] ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ สถาบันอนุญาโตตุลาการต่าง ๆ ได้ออกข้อบังคับเกี่ยวกับ “การอนุญาโตตุลาการฉุกเฉิน” เพื่อให้สอดคล้อง และเป็นการแสดงให้เห็นว่าข้อบังคับของสถาบันตนนั้นมีการนำหลักการในเรื่องดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อให้มีมาตรฐานสากล โดยให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ออกโดยคณะอนุญาโตตุลาการมีผลบังคับใช้ได้ทันที แต่ปรากฎว่ากลับมีปัญหาในเรื่อง “การบังคับตามคำสั่งระหว่างกาล” ทั้งกรณีของการบังคับตามคำสั่งระหว่างกาลของคณะอนุญาโตตุลาการที่ดำเนินการอนุญาโตตุลาการในประเทศอินเดีย และการบังคับตามคำสั่งระหว่างกาลของคณะอนุญาโตตุลาการที่ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศ จากการศึกษาพบว่ากฎหมายอนุญาโตตุลาการของประเทศอินเดียไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจคณะอนุญาโตตุลาการบังคับตามคำสั่งของตน รวมถึงไม่มีบทบัญญัติให้ศาลมีอำนาจบังคับตามคำสั่งของอนุญาโตตุลาการด้วย และไม่มีบทบัญญัติรับรองคำสั่งระหว่างกาลหรือมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่มีขึ้นโดยคณะอนุญาโตตุลาการที่ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการในต่างประเทศ หรือให้อำนาจศาลในการจัดการกับเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใดตามลำดับ เนื่องจากว่ากฎหมายอนุญาโตตุลาการของประเทศอินเดียมิได้กำหนดให้อำนาจศาลในเรื่องนี้ไว้นั่นเอง

ปัญหาดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่คณะกรรมการกฎหมายแห่งประเทศอินเดีย (Law Commission of India) ได้อาศัยการแก้ไข Model Law ปี ค.ศ. 2006 ในการนำมาแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ค.ศ. 1996 (The Arbitration and Conciliation Act of 1996) เพื่อให้สามารถบังคับตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของคณะอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมายในลักษณะเดียวกับคำสั่งของศาล (รายละเอียดสำหรับหลักการและเหตุผลรวมถึงร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ปี ค.ศ 1995 ปรากฎในรายงานฉบับที่ 246 ของคณะกรรมการกฎหมายแห่งประเทศอินเดีย[22]) แต่ปรากฎว่ากลับมิได้นำบทบัญญัติของ Model LawArticle 17มาปรับใช้กับพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับและบังคับตามคำสั่งระหว่างกาลใน Article 17H มาปรับใช้ จึงทำให้ในทางปฏิบัติเกิดปัญหาในการบังคับตามคำสั่งระหว่างกาลจึงทำให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยอนุญาโตตุลาการนั้นไม่สามารถบังคับได้ และศาลก็ไม่มีอำนาจออกคำบังคับตามคำสั่งของอนุญาโตตุลาการด้วยเช่นกัน

บทสรุป

ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมานั้น จึงเห็นได้ว่ามาตรการเกี่ยวกับการคุ้มครองชั่วคราวทั้งในขณะหรือก่อนการพิจารณาคดีโดยอนุญาโตตุลาการจึงเป็นอีกหนึ่งหลักเกณฑ์ที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อคู่พิพาทที่ประสงค์จะนำคดีเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ และเป็นการแก้ไขประเด็นปัญหาเรื่องการคุ้มครองชั่วคราวก่อนที่จะมีการตั้งอนุญาโตตุลาการได้เป็นอย่างดีทำให้คู่พิพาทสามารถดำเนินกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุญาโตตุลาการได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที และมีแนวโน้มว่าสถาบันในอีกหลายประเทศน่าจะมีการพัฒนาหลักเกณฑ์ในเรื่องมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่ได้กล่าวมานี้ไปในแนวทางเดียวกันในอนาคต โดยยึดถือหลักการจาก Model Law เป็นต้นแบบในการบัญญัติกฎหมายของตนในเรื่องการกำหนดให้อนุญาโตตุลาการมีอำนาจสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากเดิมเฉพาะศาลเท่านั้นที่มีอำนาจ รวมถึงหลักเกณฑ์ในเรื่องการให้ความคุ้มครองชั่วคราวก่อนตั้งอนุญาโตตุลาการแล้วเสร็จ ซึ่งมีแนวปฏิบัติอย่างชัดเจนทั้งที่ปรากฎในกฎหมายอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และข้อบังคับของสถาบัน SIAC ของประเทศสิงคโปร์ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาในเรื่องการอนุญาโตตุลาการเป็นอย่างมาก และอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกในปัจจุบัน อีกทั้ง สถาบัน ICC ก็ยังได้บัญญัติไว้ใน ICC Rules โดยมีหลักการเบื้องต้นเช่นเดียวกันกับประเทศสิงคโปร์อีกด้วย ด้วยเหตุนี้เพื่อให้การอนุญาโตตุลาการของประเทศไทยมีหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเป็นสากลและทัดเทียมกับประเทศที่มีพัฒนาการในเรื่องการอนุญาโตตุลาการอย่างเป็นมาตรฐานสากล โดยยังคงแนวทางการอ้างอิง Model Law เป็นหลักโดยมิให้ขัดหรือแย้งกับกฎหมายต้นแบบดังกล่าว จึงควรที่จะปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 โดยเฉพาะในเรื่องมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่ประเทศไทยยังคงยึด Model Law 1985 ฉบับก่อนมีการแก้ไขในปี ค.ศ. 2006 อยู่ และยังไม่เคยทำการแก้ไขนับแต่ประกาศใช้ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการในปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา แต่การปรับปรุงเช่นว่านี้จำต้องคำนึงถึง “ขอบเขตการใช้บังคับ” ของมาตรการชั่วคราวด้วย ซึ่งหากประสงค์จะแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ 2545 ในเรื่องการให้อำนาจอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ ก็ควรที่จะนำบทบัญญัติต่าง ๆ ใน Model Law Article 17 ทั้งหมดมาใช้เพื่อให้การนำไปปฏิบัตินั้นเกิดประสิทธิผลอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นเพื่อให้การคุ้มครองชั่วคราวมีประสิทธิภาพครบถ้วนจึงควรเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองชั่วคราวก่อนที่จะตั้งอนุญาโตตุลาการแล้วเสร็จ โดยเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ “อนุญาโตตุลาการฉุกเฉิน” ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยให้สามารถอุดช่องว่างในขณะดำเนินกระบวนการตั้งอนุญาโตตุลาการ และในระหว่างนั้นเกิดเหตุที่คู่พิพาทจำเป็นจะต้องร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราวได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ

หากประเทศไทยยังไม่ได้ทำการแก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ “มาตรการคุ้มครองชั่วคราว” ตามแนวทางของ Model Law และปรับปรุงให้กฎหมายอนุญาโตตุลาการของประเทศไทยสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็มีความเป็นไปได้ว่าหากคู่สัญญาอีกฝ่ายที่เป็นคนไทยเองอาจจำต้องตกลงยินยอมคู่สัญญาอีกฝ่ายที่จะต้องเลือกทำการอนุญาโตตุลาการในประเทศทางเลือกอื่นที่ปรับใช้กฎหมายต้นแบบมากกว่า อาทิเช่น ประเทศสิงคโปร์ หรือฮ่องกง เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันสัญญาทางการค้าระหว่างประเทศที่คู่สัญญาเป็นคนไทยก็มักระบุเลือกทำอนุญาโตตุลาการในประเทศสิงคโปร์เป็นหลักแทบทั้งสิ้น สาเหตุหลักน่าจะมาจากกฎหมายอนุญาโตตุลาการที่ผ่านมาของประเทศไทยมีข้อความที่กำกวม หรือทำให้คู่พิพาทที่เป็นชาวต่างประเทศกังวลว่าศาลไทยจะตีความกฎหมายนั้นอย่างไม่ถูกต้องตามสากลทำให้คู่พิพาทเลือกทำการอนุญาโตตุลาการในประเทศอื่นที่กฎหมายเหมือนหรือคล้ายกฎหมายต้นแบบมากกว่าร่างกฎหมายของประเทศไทย[23] ดังนั้นหากประเทศไทยมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอนุญาโตตุลาการให้มีความเป็นสากลและมีมาตรฐานเทียบเท่ากับกฎหมายต้นแบบ หรือ Model Law มากยิ่งขึ้นจะทำให้เรามีศักยภาพเพียงพอในการที่จะให้บริการในการอนุญาโตตุลาการการค้าระหว่างประเทศ เราจึงควรตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และให้ความสำคัญกับการอนุญาโตตุลาการของประเทศไทยให้สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้กับความเป็นจริงเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งจะเป็นการดึงดูดให้คู่สัญญาหรือคู่พิพาททั้งในประเทศเอง และระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสมาชิก ASEAN Economic Community หรือ AEC เลือกทำการอนุญาโตตุลาการในประเทศไทย และนำคดีพิพาทของตนเข้าสู่การดำเนินกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการ เนื่องด้วยการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นบริการอย่างหนึ่งซึ่งสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศเพราะผู้มาทำการอนุญาโตตุลาการต้องใช้บริการทางกฎหมายของทนายความและศาล ต้องใช้ล่ามและผู้บันทึกสำนวนคดี ต้องใช้ห้องประชุมและห้องพัก เป็นต้น[24] อันจะส่งผลดีต่อการนำรายได้เข้าประเทศ อีกทั้งยังช่วยในการพัฒนาและส่งเสริมการอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและก้าวหน้ายิ่งขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอีกด้วย

บรรณานุกรม

หนังสือ

ธวัชชัย สุวรรณพานิช. คำอธิบาย พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2558

พิชัยศักดิ์ หรยางกูร.รวมข้อเขียนเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางการค้า. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549

บทความ

D. Gracious Timothy.ความสามารถในการทำงานของอนุญาโตตุลาการฉุกเฉินในประเทศอินเดีย: ข้อบกพร่องของอนุญาโตตุลาการฉุกเฉิน. วารสารอนุญาโตตุลาการ 11 (กันยายน 2559): 39-60.

เอกสารอื่น ๆ

พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545. ราชกิจจานุเบกษา 119 (29 เมษายน 2545): 1-18.

Other Documents

International Chamber of Commerce. International Chamber of Commerce Rules of Arbitration, 2012.

Law Commission of India. Report No. 246 Amendments to the Arbitration and Conciliation Act 1996, 2014

Singapore International Arbitration Centre. Arbitration Rules of Singapore International Arbitration Centre. Sixth Edition, 2016.

The Statutes of The Republic of Singapore. International Arbitration Act (Chapter 143A). Revised Edition, 2002

United Nations Commission on International Trade Law. Convention on the Recognition and Enforcement of Foreign Arbitral Awards (New York,1958), 2015

United Nations Commission on International Trade Law. UNCITRAL Model Law on International Commercial Arbitration 1985 with amendments as adopted in 2006. United Nations Publication, 2008.

ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

http://www.iccthailand.or.th

http://www.iccwbo.org

http://www.krisdika.go.th

http://www.siac.org.sg

http://www.newyorkconvention.org

http://www.uncitral.org

[1] *นักศึกษาชั้นปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ ภาควิชากฎหมายธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

[2] หมายเหตุท้ายราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนที่ 39 ก พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

[3] คำว่า “กฎหมายต้นแบบ” มีความหมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษ คือ “Model Law” สำหรับคำว่า “กฎหมายแม่แบบ” เป็นคำที่ใช้ในการอธิบายที่มาและเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ซึ่งปรากฎในหมายเหตุท้ายราชกิจจานุเบกษา

[4] ดู Explanatory Note by the UNCITRAL secretariat on the 1985 Model Law on International Commercial Arbitration as amended in 2006, p.24.

[5] ต่อไปนี้เรียกว่า “Model Law”

[6] Model Law Article 5 “In matters governed by this Law, no court shall intervene except where so provide in this Law.”

[7] Model Law Article 9 “It is not incompatible with an arbitration agreement for a party to request, before or during arbitral proceedings, from a court an interim measure of protection and for a court to grant such measure.”

[8] ดู Model Law with amendment as adopted in 2006, Chapter IV A. Article 17, 17 A.-17 J.

[9] Model Law 1985 เดิม, Article 17 “Unless otherwise agreed by the parties, the arbitral tribunal may, at the request of a party, order any party to take such interim measure of protection as the arbitral tribunal may consider necessary in respect of the subject-matter of the dispute. The arbitral tribunal may require any party to provide appropriate security in connection with such measure.”

[10] ดู Explanatory Note by the UNCITRAL secretariat on the 1985 Model Law on International Commercial Arbitration as amended in 2006, p.31.

[11] ธวัชชัย สุวรรณพานิช, คำอธิบาย พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2558), หน้า 107.

[12] Model Law Article 1(2) “2. The provisions of this Law, except article 8,9, 17 H, 17 I, 17 J, 35 and 36, apply only if the place of arbitration is in the territory of this State” (amended by the Commission at its thirty-ninth session, in 2006)

[13] ดู The Statutes of the Republic of Singapore International Arbitration Act (Chapter 143A) 2012, Power of Arbitral Tribunal Article 12 (1) (i)

[14] ต่อไปนี้เรียกว่า “SIAC”

[15] SIAC Rules (6th Edition, 1 August 2016) Article 30.1 “The Tribunal may, at the request of a party, issue an order or Award granting an injunction or any other interim relief it deems appropriate. The Tribunal may order the party requesting interim relief to provide appropriate security in connection with the relief sought.”

[16] SIAC Rules (6th Edition, 1 August 2016) Article 30.2 “A party that wishes to seek emergency interim relief prior to the constitution of the Tribunal may apply for such relief pursuant to the procedures set forth in Schedule 1”

Article 30.3 “A request for interim relief made by a party to a judicial authority prior to the constitution of the Tribunal, or in exceptional circumstance thereafter, is not incompatible with these Rules”

[17] SIAC Rules (6th Edition, 1August 2016), Schedule 1

[18] ต่อไปนี้เรียกว่า “ICC Rules”

[19] ดู ICC Rules Article 28

[20] ICC Rules , Appendix V

[21] D. Gracious Timothy, “ความสามารถในการทำงานของอนุญาโตตุลาการฉุกเฉินในประเทศอินเดีย: ข้อบกพร่องของอนุญาโตตุลาการฉุกเฉิน”, วารสารอนุญาโตตุลาการ 11 (กันยายน 2559): 39-60.

[22] Law Commission of India, “Report No. 246 Amendments to the Arbitration and Conciliation Act 1996”, August 2014, p.26-27.

[23] พิชัยศักดิ์ หรยางกูร, รวมข้อเขียนเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางการค้า (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549), หน้า 18-19.

[24] เพิ่งอ้าง, หน้า 19.

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

@wcclawoffice


 
 
 

© 2016-2023 by W Corporate Consultants, Thailand.

bottom of page