top of page
  • Line
Search

สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๙


เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2559 ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๑๐๔ ก สำหรับพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒​๕​๕๙ โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งยังมีข้อจำกัดบางประการทำให้ไม่สามารถใช้บังคับมาตรการลงโทษทางอาญากับผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นอุปสรรคต่อการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดดังกล่าว สมควรปรับปรุงบทบัญญัติบางประการใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการของระบบการซื้อขายหลักทรัพย์และรองรับการเชื่อมโยงระหว่างตลาดทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งกำหนดให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดแทนมาตรการลงโทษทางอาญาได้ในบางกรณี เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและทำให้ผู้ลงทุนได้รับการคุ้มครองมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญในการแก้ไขได้ ดังนี้

2.1 การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนของการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (Market Misconduct)

กลุ่มที่ 1 ความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุน และตลาดทุน

กฎหมายใหม่ได้ปรับปรุงลักษณะการกระทำความผิดเกี่ยวกับการบอกกล่าว เผยแพร่ หรือเปิดเผยข้อมูลที่เป็นเท็จหรือที่ทำให้สำคัญผิดให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งให้ครอบคลุมการกระทำของบุคคลใด ๆ ที่อาจมีผลต่อราคาหลักทรัพย์หรือต่อการตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ ยังได้กำหนดให้ใครก็ตาม ที่จะออกมาวิเคราะห์หรือคาดการณ์เกี่ยวกับข้อมูลใด ๆ ของบริษัทจดทะเบียน จะต้องใช้ความระมัดระวัง และรับผิดชอบต่อความเห็นของตน โดยกฎหมายใหม่กำหนดกรอบที่ชัดเจนว่า ก่อนที่บุคคลดังกล่าวจะทำการวิเคราะห์หรือคาดการณ์ จะต้องตรวจสอบว่าข้อมูลที่ตนได้รับมีความถูกต้องหรือน่าเชื่อถือเพียงใด รวมทั้งข้อมูล ที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์หรือคาดการณ์จะต้องไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง และต้องไม่ใช่ข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนซึ่งอาจทำให้คนทั่วไปเกิดความเข้าใจผิดได้ ดังนั้น การวิเคราะห์หรือคาดการณ์ยังสามารถทำได้ ซึ่งในส่วนของการคาดการณ์เหตุการณ์ ในอนาคต ตราบใดที่การคาดการณ์นั้นมีข้อมูลที่เป็นจริงรองรับ ไม่ได้บิดเบือน แม้ในภายหลังผลจะไม่เป็นอย่าง ที่คาดการณ์ไว้ก็ไม่เป็นความผิด โดยผู้ที่ออกมาวิเคราะหรือคาดการณ์ต้องรับผิดชอบและระมัดระวังต่อข้อมูล ที่ตนสื่อสารออกมามากยิ่งขึ้นเพราะอาจมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์หรือต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุน และเมื่อได้ให้ความเห็นไปแล้ว ก็ควรเก็บหรือบันทึกข้อมูลที่ตนใช้ในการให้ความเห็นไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการอธิบายในภายหลัง

กลุ่มที่ 2 ความผิดเกี่ยวกับการเอาเปรียบผู้ลงทุนในตลาดทุนรายอื่นโดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ตนล่วงรู้มา

(1) นอกจากการห้ามบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน (insider) นำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว กฎหมายใหม่ยังกำหนดให้ insider ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแก่ บุคคลอื่นที่อาจนาข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์เช่นเดียวกัน ซึ่งหากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ทั้งผู้ให้ข้อมูลและผู้รับข้อมูล ที่นำไปใช้ประโยชน์อาจต้องมีความรับผิด โดยกฎหมายใหม่มีข้อสันนิษฐานว่า บุคคลที่เป็น insider (เช่น กรรมการ ผู้บริหาร ผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน และที่ปรึกษากฎหมาย) ซึ่งเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วง ที่มีข้อมูลภายใน จะถูกพิจารณาไว้ก่อนว่าเป็นผู้ที่รู้และครอบครองข้อมูลภายในอันอาจเป็นความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้ แม้จะไม่พบว่า insider มีการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยตนเอง แต่หากพบหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าบุคคล ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ insider (เช่น พ่อแม่ พี่น้อง คู่สมรส ผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา และบุตร) มีการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดไปจากปกติที่เคยทำ อาจถูกสันนิษฐานว่าเป็นการซื้อขายโดยผู้รู้หรือครอบครอง ข้อมูลภายใน อันเป็นความผิดเช่นกัน อย่างไรก็ดี ผู้กระทำความผิดมีสิทธิพิสูจน์หักล้างว่าตนมิได้ใช้ข้อมูลภายในในการกระทำดังกล่าว

(2) เนื่องจากข้อมูลการทำธุรกรรมของลูกค้าถือเป็นข้อมูลอีกประเภทหนึ่งที่อาจถูกนำไปใช้ประโยชน์ซึ่งเป็นการเอาเปรียบลูกค้ารายดังกล่าวได้ กฎหมายใหม่จึงคุ้มครองด้วยการกาหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือธุรกิจจัดการกองทุน รวมทั้งพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทดังกล่าว ที่นำข้อมูลคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าไปใช้ประโยชน์โดยการซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้าลูกค้า หรือเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นซึ่งอาจอาศัยข้อมูลที่ได้มานั้นไปซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้าลูกค้า หรือที่เรียกว่า Front-running จะต้องมีความรับผิดตามกฎหมาย

กลุ่มที่ 3 ความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ให้ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

กฎหมายใหม่ได้แก้ไขการกระทำความผิดในกลุ่มนี้ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยได้แบ่งความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ อันทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ และการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ในลักษณะต่อเนื่องเพื่อให้ราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

โดยทั่วไป การกระทำความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์มักมีการกระทำร่วมกัน เป็นกลุ่ม หากพบว่ามีพฤติกรรมร่วมกันเกี่ยวกับการกระทำความผิดบางอย่างตามที่กฎหมายใหม่กำหนด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลดังกล่าวมีการกระทำความผิดร่วมกัน เช่น มีการเปิดบัญชีธนาคารร่วมกัน เพื่อใช้ในการชำระเงินเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ การยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีธนาคารหรือบัญชี ซื้อขายหลักทรัพย์ของตน และการชำระเงินค่าซื้อขายหลักทรัพย์แทนกัน เป็นต้น

กลุ่มที่ 4 ความผิดที่มีผลกระทบต่อระบบซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์

เนื่องจากตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นกลไกที่สาคัญในตลาดทุนของประเทศ และเป็นที่ซื้อขายหลักทรัพย์ของประชาชนผู้ลงทุนจำนวนมาก ระบบซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็น ส่วนสำคัญของตลาดซื้อขายจึงต้องมีความน่าเชื่อถือและพร้อมที่จะให้บริการซื้อขายอย่างต่อเนื่องและ มีประสิทธิภาพ หากระบบซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวเกิดการล่าช้าหรือหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเกิดจากความตั้งใจ หรือความไม่ระมัดระวังของบุคคลใดในการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์เข้าไปในระบบจนเกิดเหตุดังกล่าว เช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) หรือการซื้อขายในลักษณะที่มีความถี่สูง (High Frequency Trading) เป็นต้น กรณีดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจทาให้ดัชนีหลักทรัพย์หรือราคาหลักทรัพย์ เกิดการผันผวนซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ลงทุนโดยรวมและความเชื่อมั่นของตลาดทุนไทย กฎหมายใหม่จึงกำหนด ให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังกำหนดความผิดฐานใหม่กรณีที่มีการใช้หรือยินยอมให้ใช้บัญชี nominee ไม่ว่าจะเป็นบัญชีธนาคารหรือบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อใช้ในการปกปิดตัวตนของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์

2.2 เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางแพ่ง (Civil Sanction)

(1) มาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นมาตรการลงโทษที่เพิ่มเติมขึ้นเพื่อให้รัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนอกเหนือจาก การบังคับใช้กฎหมายผ่านกระบวนการลงโทษทางอาญา เนื่องจากกระบวนการทางแพ่งมีความรวดเร็วกว่า ประกอบกับกระบวนการพิจารณาพยานหลักฐานและการพิสูจน์ความผิดใช้มาตรฐานอย่างเดียวกับคดีแพ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิผลที่ดีขึ้น โดยมาตรการลงโทษทางแพ่ง แบ่งได้เป็น 5 มาตรการ ดังนี้

(ก) การกำหนดให้ผู้กระทำความผิดชำระค่าปรับทางแพ่ง (Monetary penalty)

(ข) การกำหนดให้ผู้กระทำความผิดชดใช้เงินเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ จากการกระทำความผิด (Disgorgement)

(ค) การห้ามผู้กระทำความผิดเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งสูงสุดไม่เกิน 5 ปี

(ง) การห้ามผู้กระทำความผิดเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งสูงสุดไม่เกิน 10 ปี

(จ) การกำหนดให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคืนให้ กับสำนักงาน ก.ล.ต. (Reimbursement of investigation cost)

(2) ความผิดประเภทที่สามารถบังคับใช้กฎหมายด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งได้ เป็นความผิดที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสาคัญต่อความน่าเชื่อถือและโปร่งใสของตลาดทุนไทย จึงเป็นบทบัญญัติที่ต้องการสัมฤทธิ์ผลของการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิด ในระดับสูง ซึ่งแบ่งความผิดได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

(ก) ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์

(ข) ความผิดเกี่ยวกับการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสาคัญในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (filing) ร่างหนังสือชี้ชวน รายงานฐานะทางการเงิน และเอกสารที่เปิดเผยต่อสาธารณชน

(ค) ความผิดเกี่ยวกับการที่กรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนไม่ปฏิบัติ หน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต

(ง) ความผิดเกี่ยวกับการใช้หรือยอมให้ใช้บัญชี Nominee ในการกระทำอัน ไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์

(3) ตามโครงสร้างของกฎหมายฉบับปัจจุบัน เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. พบว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ สำนักงาน ก.ล.ต. จะดำเนินการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อพิจารณาดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดต่อไป เว้นแต่ในกรณีที่เป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรงหรือมีโทษจาคุกไม่เกิน 2 ปี กฎหมายฉบับปัจจุบันกำหนดให้เป็นความผิดที่เปรียบเทียบได้ หากผู้ถูกกล่าวหายินยอม เข้ารับการเปรียบเทียบ การดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหารายนั้นก็จะเป็นอันยุติ หากกฎหมายฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ รัฐจะมีเครื่องมือที่ใช้ในการลงโทษผู้กระทำความผิดเพิ่มขึ้น โดยสำนักงาน ก.ล.ต. จะพิจารณาว่าควรดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งในการพิจารณาจะคำนึงถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ผลกระทบต่อตลาดทุน พยานหลักฐานที่อาจนำมาใช้พิสูจน์ และความคุ้มค่าในการดำเนินมาตรการนั้น หากสำนักงาน ก.ล.ต. เห็นควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง สำนักงาน ก.ล.ต. จะเสนอคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งเพื่อขอให้พิจารณาให้ความเห็นชอบที่จะดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทาความผิด ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นคณะกรรมการที่มีผู้ทรงคุณวุฒิจากด้านบังคับใช้กฎหมายและด้านตลาดเงินตลาดทุน ได้แก่ อัยการสูงสุด (เป็นประธาน) ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. หากคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งเห็นชอบด้วยที่จะดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด สำนักงาน ก.ล.ต. จะดำเนินการฟ้องผู้กระทำความผิดต่อศาลแพ่งเพื่อใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งต่อไป และเมื่อศาลตัดสินคดีแล้ว อาจมีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้โดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จะถือเป็นที่สุด ไม่สามารถฎีกาต่อไปได้

อย่างไรก็ดี หากผู้กระทำความผิดยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งกำหนด ก็จะมีการทำบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง และเมื่อชำระเงินครบถ้วนแล้ว คดีจะสิ้นสุดลงทั้งในส่วนมาตรการลงโทษทางแพ่งและทางอาญา

ที่มา: www.sec.or.th


@wcclawoffice


 
 
 

© 2016-2023 by W Corporate Consultants, Thailand.

bottom of page