top of page
  • Line
Search

มาตรการภาษีส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล


รัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการยกเว้นภาษีและลดค่าธรรมเนียม เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยที่ดำเนินงานในรูปบุคคลธรรมดาหันมาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล โดยพุ่งเป้าดึงผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้ามาอยู่ในระบบฐานภาษี เพื่อให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะมีข้อมูลในมือสำหรับจัดทำนโยบายและมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือได้ตรงจุด

มาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เมื่อ 9 ส.ค. 2559 ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กับประกาศรวม 4 ฉบับ ได้แก่

1. พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 269) มีผลบังคับใช้เมื่อ 28 ม.ค. 2560 สาระสำคัญคือปรับอัตราค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมินการคำนวณภาษีเงินได้บุคคธรรมดา จากเดิมให้หักได้ 60-85% เหลือ 60% จูงใจให้บุคคลธรรมดาจัดตั้งนิติบุคคลประกอบธุรกิจ

2. พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) มีผลบังคับใช้ 28 ม.ค. 2560 สาระสำคัญ 2.1 ให้บุคคลธรรมดาที่จำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สิน สินค้า บริการ ฯลฯ ให้นิติบุคคลที่ตั้งใหม่ โดยรับค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญ ระหว่าง 10 ส.ค. 2559-31 ธ.ค. 2560 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าอากรแสตมป์ 2.2 ให้นิติบุคคล SMEs ที่ตั้งขึ้นระหว่าง 10 ส.ค. 2559-31 ธ.ค. 2560 ได้สิทธิหักรายได้เพิ่มอีก 1 เท่า สำหรับค่าจัดตั้งนิติบุคคล ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี

เว้นค่าธรรมเนียมโอนอสังหาฯ

3. ประกาศกระทรวงมหาดไทย ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรณีโอนอสังหาฯ หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตามมาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 ส.ค. 2559-31 ธ.ค. 2560 จากปกติ 2% เหลือ 0.01%

4. ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรณีโอนห้องชุด ของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบคคลหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตามมาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 ส.ค. 2559-31 ธ.ค. 2560 จากปกติ 2% เหลือ 0.01%

ขายที่ดินเจอบี้ภาษีรายได้ใหม่

5. มติ ครม.เมื่อ 18 ต.ค. 2559 อนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เกี่ยวกับการกำหนดฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาฯ ตามมาตรา 49 ทวิ ตามที่คลังเสนอ จากเดิมคำนวณภาษีเงินได้การโอนอสังหาฯ โดยคิดจากราคาประเมินทุนทรัพย์ เป็นคิดจากราคาประเมินทุนทรัพย์ กับราคาขาย อย่างใดอย่างหนึ่งที่สูงกว่า จูงใจให้ผู้ประกอบการที่มีการซื้อขายอสังหาฯ ประกอบธุรกิจในรูปบริษัทแทนการเป็นบุคคลธรรมดา

ลดภาระจ่ายค่าภาษีที่ดิน

ไม่นับรวมกรณีโอนที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างจากบุคคลธรรมดาไปอยู่ในรูปบริษัทแทน เพื่อลดภาระจากที่หากมีที่ดินในมืออยู่จำนวนมากโดยเฉพาะที่ดินประเภทพาณิชยกรรม ที่ดินว่างเปล่า ซึ่งหากเจ้าของที่ดินถือครองที่ดินในนามบุคคลธรรมดาจะมีภาระภาษีในระดับที่สูง แต่หากถือครองในรูปนิติบุคคลภาระภาษีจะน้อยกว่า แถมยังได้รับประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล เพราะหากจัดตั้งบริษัทใหม่และโดยที่ดินทรัพย์สินภายในเงื่อนระยะเวลาที่กำหนด จะได้อานิสงส์ทั้งจากการยกเว้นภาษีและการลดค่าโอน

รับมี "รูรั่ว" เร่งแก้ปิดช่องโหว่

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ที่ออกตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 630) พ.ศ. 2560

ที่เป็นมาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบกิจการในรูปแบบนิติบุคคลมีช่องโหว่อยู่จริง ที่อาจทำให้มีคนหาประโยชน์ในการโอนทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดามาตั้งบริษัทแล้วขาย เพื่อไม่ต้องเสียภาษี โดยแม้จะเขียนไว้ว่า บุคคลธรรมดาที่โอนทรัพย์สินไปนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นต้องประกอบธุรกิจต่อเนื่อง คือเป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลด้วย แต่ไม่ได้กำหนดที่ตัวทรัพย์สินว่าต้องเป็นทรัพย์สินที่เคยใช้ในการประกอบกิจการอยู่แต่เดิม ดังนั้นจึงอาจมีการเอาทรัพย์สินอื่นมารวม พอโอนเรียบร้อยแล้วก็ขายทิ้ง ซึ่งนิติบุคคลขายจะเสียภาษีต่ำกว่าบุคคลธรรมดา

"นอกจากนี้ประกาศอธิบดีฉบับนี้กำหนดว่า การโอนทรัพย์สินอย่างที่ดินต้องโอนราคาตลาด ซึ่งอาจสูงกว่าราคาทุน และยังกำหนดว่า คนที่โอนทรัพย์สินจะต้องถือหุ้นในบริษัทที่ตั้งขึ้น ไม่น้อยกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่โอนจึงมีปัญหาว่า เมื่อโอนไปแล้ว พอบริษัทขายทรัพย์สินนั้น จะไม่มีภาระภาษี" แหล่งข่าวกล่าว

การที่บริษัทขายทรัพย์สินแต่ไม่ต้องเสียภาษีนั้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ ทรัพย์สินคือที่ดิน ราคาประเมินอยู่ที่ 20 ล้านบาท แต่ราคาตลาดอยู่ที่ 100 ล้านบาท เมื่อบุคคลโอนไปบริษัทซึ่งต้องใช้ราคาตลาดคือ 100 ล้านบาท โดยตัวบุคคลที่โอนได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรการ แต่พอบริษัทที่ได้รับที่ดินมาต้นทุน 100 ล้านบาท หากขายออกไปในราคาตลาดที่ 100 ล้านบาท

ดังนั้น จึงเท่ากับว่าไม่มีกำไร ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี หรือถ้าขายมีกำไรก็เสียภาษีเฉพาะส่วนกำไร หรือกรณีใช้วิธีการขายหุ้นบริษัท ซึ่งทรัพย์สินที่โอนมาก็ต้องลงบัญชีเป็นหุ้นที่ราคาต้นทุน คือ 100 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อขายหุ้นออกไป 100 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกัน

แก้นิยาม "ทรัพย์สิน" ปิดทางมั่ว

แม้ว่าประกาศอธิบดีกำหนดว่า ทรัพย์สินที่โอนไปยังบริษัทจะได้รับยกเว้นภาษี ก็ต่อเมื่อบุคคลที่โอนต้องถือหุ้นในบริษัทที่รับโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปด้วย อย่างเช่น ร้านค้าทอง โอนไปบริษัทที่ตั้งขึ้น ถ้าคนที่โอนไม่ได้ไปเป็นผู้ถือหุ้น จะไม่ได้รับยกเว้นภาษี แต่ถ้าตัวเองไปถือหุ้นจะได้รับยกเว้นภาษี อย่างไรก็ดี ประกาศไม่ได้ระบุให้ชัดว่า ทรัพย์สินที่มีการโอนนั้น ต้องเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอาจมีการนำทรัพย์สินอื่นปนเข้าไปด้วย

สำหรับรูรั่วที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากเจตนา และขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้เร่งหารือกันเพื่อดำเนินการแก้ไขประกาศอธิบดีกรมสรรพากรดังกล่าวเพื่อปิดช่องโหว่

"ตอนนี้ก็กำลังมีการแก้ไขกันอยู่ โดยจะประกาศให้ทรัพย์สินที่โอนไปยังบริษัทต้องเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งเมื่อมีการโอนไปยังบริษัท กรมสรรพากรก็จะตรวจสอบว่าทรัพย์สินดังกล่าวเข้าเกณฑ์หรือไม่ หากไม่เข้าเกณฑ์ก็จะไม่ยกเว้นภาษีให้"

เปลี่ยนเกณฑ์ใช้ "ราคาทุน"

นอกจากนั้นจะมีการแก้ไขเกี่ยวกับราคาทรัพย์สินที่โอนด้วย โดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรที่ใช้อยู่ปัจจุบันกำหนดว่า ต้องเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตาม "ราคาตลาด" จากบุคคลให้แก่นิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นระหว่าง 10 ส.ค. 2559 ถึง 31 ธ.ค. 2560 เพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนของบริษัท ทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นก็อาจจะแก้ไขให้ใช้ "ราคาทุน" แทน

สำหรับในนส่วนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เรื่อง การกำหนดฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อ 18 ต.ค. 2559 ซึ่งเป็นการกำหนดให้การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จะต้องใช้ราคาซื้อขายจริงหรือราคาประเมิน โดยให้ใช้ราคาที่สูงที่สุด จากเดิมที่ใช้ราคาประเมินเป็นฐานนั้น ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับ โดยล่าสุดคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ตรวจร่างได้ส่งเรื่องมาให้กรมสรรพากรดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน เสร็จแล้วจึงเสนอเข้าสู่กระบวนการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

@wcclawoffice


 
 
 

© 2016-2023 by W Corporate Consultants, Thailand.

bottom of page