ประเทศไทยกับกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล 2561
- Waraporn T.
- May 31, 2018
- 1 min read
ต้องยอมรับว่ากระแสเงินดิจิทัล หรือ ดิจิตอล (digital) เป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงและปฏิเสธถึงการมีอยู่ในแวดวงทางการเงินในยุคสมัยปัจจุบัน การ "ห้าม" มิให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับ "เงินดิจิทัล" อาจเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงมากยิ่งกว่า "การออกกฎหมาย" มาควบคุมดูแลเพื่อให้ประชาชนและรัฐได้รับการคุ้มครองและได้รับประโยชน์จากการบังคับใช้กฎหมายเช่นว่านั้น
ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 สำหรับ พระราชกำหนด (พรก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจานุเบกษาเป็นต้นไป ทั้งนี้ พรก. ทั้ง 2 ฉบับ ได้วางหลักเกณฑ์ที่สำคัญเกี่ยวกับเงินดิจิตอลในประเทศไทยไว้ 3 เรื่องด้วยกัน คือ สินทรัพย์ดิจิทัล ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และการจัดเก็บภาษี นอกจากนั้นกฎหมายยังได้มอบอำนาจให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์และควบคุมดูแลลทั้งหมด
สาระสำคัญในพรก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
สินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) ที่อยู่ภายใต้บังคับของพรก.นี้ ได้แก่
(1) “คริปโทเคอร์เรนซี” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล
(2) “โทเคนดิจิทัล” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ
ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้พรก.นี้มี 3 ประเภท คือ
(1) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หมายความว่า ศูนย์กลางหรือเครือข่ายใด ๆ ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการจับคู่หรือหาคู่สัญญาให้หรือการจัดระบบ หรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ซึ่งประสงค์จะซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถทำความตกลงหรือจับคู่กันได้ โดยกระทำเป็นทางค้าปกติ แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงศูนย์กลาง หรือเครือข่ายในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
(2) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หมายความว่า บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการเป็นนายหน้าหรือตัวแทน เพื่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่บุคคลอื่น โดยกระทำเป็นทางค้าปกติและได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น แต่ไม่รวมถึงการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
(3) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล หมายความว่า บุคคลซึ่งให้บริการหรือแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าพร้อมจะให้บริการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในนามของตนเองเป็นทางค้าปกติ โดยกระทำนอกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ไม่รวมถึงการให้บริการในลักษณะที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
ซึ่งผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.ก่อน

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19)
สำหรับประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก คือ การเรียกเก็บภาษีจากธุรกรรมเงินดิจิทัลตาม พรก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายมาบังคับใช้ในการจัดเก็บภาษีเงินได้จากเงินดิจิทัลต่าง ๆ เป็นการเฉพาะทำให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ครบถ้วน พรก. ฉบับดังกล่าวจึงกำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนเงินดิจิทัลนั้นถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี โดยมีสาระสำคัญ คือให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ จะจัดเก็บเฉพาะในส่วนที่เป็นกำไรจากการซื้อขายที่มีมูลค่าเกินกว่าเงินลงทุนในอัตราร้อยละ 15
อย่างไรก็ตาม ได้มีความกังวลโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนในการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลว่า หากได้กำไรจากการถือครองสกุลเงินดิจิทัลแล้วจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ และหากถึงสิ้นปีตนจะต้องนำกำไรหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นอีกเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมด้วยซึ่งนักลุงทุนมองว่าเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน
ทั้งนี้ ตัวแทนภาครัฐ และก.ล.ต. ได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงการออกพรก. ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวว่า เนื่องจากมีสัญญาณเตือนจากในต่างประเทศว่าให้ระวังการฟอกเงินจากสิ่งผิดกฎหมาย เช่น
สิ่งเสพติด หรือการค้ามนุษย์ โดยการนำเงินเถื่อนเข้ามาไว้ในสกุลเงินดิจิทัลผ่านวิธีการต่าง ๆ อีกทั้งในปัจจุบันประเทศไทยมีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนี้ค่อนข้างมาก ทำให้รัฐบาลต้องออกพรก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเร่งด่วน ก่อนจะมีการเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขก่อนการตราเป็นพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ในอนาคตต่อไป อีกทั้งการเกิดรูปแบบใหม่ ๆ สำหรับเทคโนโลยีทางการเงินมีจำนวนมากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่า ยุค Fintech ดังนั้น การที่มีกฎหมายเข้ามากำกับดูแลอย่างทันท่วงทีจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
อย่างไรก็ดี การมีกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าธุรกิจประเภทนี้ไม่มีความเสี่ยงในเรื่องการลงทุน แต่เป็นเพียงการรับประกันว่าผู้ที่เข้ามาประกอบธุรกิจค้าขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็น
ผู้ประกอบการที่ถูกกฎหมาย มีตัวตนจริง ไม่ใช่การทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่ หรือธุรกิจฟอกเงิน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนได้รับประโยชน์ อีกทั้งหากมีการหลอกลวงประชาชน หรือมีผู้ทำธุรกิจสินทรัยพ์ดิจิทัลอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะมีบทลงโทษ
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
พรก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

@wcclawoffice