
สืบเนื่องจากมีท่านผู้อ่านได้ส่งข้อความมาสอบถามเกี่ยวกับ “สถานที่การทำอนุญาโตตุลาการในประเทศไทย” วันนี้จึงขอสรุปเกี่ยวกับประเภทการอนุญาโตตุลาการ รวมถึงสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการทำอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงกระบวนการในการทำอนุญาโตตุลาการได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ประเภทของการอนุญาโตตุลาการ
1. การอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อพิพาทลงทุนโดยธนาคารโลก (world bank) สถาบันอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเรียกว่า ICSID - The International Centre for Settlement of Investment Disputes ซึ่งตั้งขึ้นโดยอนุสัญญา Washington Convention ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่มีการให้สัตยาบันแต่อย่างใด
ICSID เป็นสถาบันอิสระ มีวัตถุประสงค์เพื่อระงับข้อพิพาทการลทุนระหว่างเอกชนผู้ลงทุนและรัฐผู้รับการลงทุน โดยกระบนการภายใต้ ICSID เป็นระบบที่สมบูรณ์ในตัวเอง หมายถึง กระบวนการอนุญาโตตุลาการของระบบ ICSID ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายอนุญาโตตุลาการประเทศที่ทำการอนุญาโตตุลาการ ศาลในประเทศต่าง ๆ ไม่มีอำนาจตรวจสอบคำชี้ขาดของ ICSID นอกจากนั้น
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ถือว่าเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
2. การอนุญาโตตุลาการโดยกฎหมาย ในกรณีนี้การทำอนุญาโตตุลาการไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของคู่พิพาท แต่เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น การทำอนุญาโตตุลาการประเภทนี้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำสัญญาอนุญาโตตุลาการ เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นคู่พิพาทสามารถนำข้อพิพาทเสนอต่ออนุญาโตตุลาการได้ทันที ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 55 ว่าด้วยเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง หรือผู้ทรงสิทธิอื่นใดในที่ดิน หรือสถานที่นั้นมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้รับสัมปทาน ถ้าไม่สามารถตกลงกันถึงจำนวนค่าเสียหายได้ ให้มอบ
ข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยโดยนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ......
ข้อสังเกตเกี่ยวกับผลทางกฎหมายของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยกฎหมาย คือ หากคู่พิพาทไม่พอใจคำชี้ขาดสามารถนำข้อพิพาทฟ้องต่อศาลใหม่ได้ เนื่องจากเป็นคำชี้ขาดซึ่งไม่มีผลผูกพันคู่พิพาท (non-binding arbitration)
3. การอนุญาโตตุลาการแบบดำเนินการเอง คือ เป็นการอนุญาโตตุลาการที่คู่พิพาทตกลงร่วมกันดำเนินงานเองทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นงานธุรการ หรืองานคดี ซึ่งคู่พิพาทไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่บุคคลใด หรือสถาบันใด ๆ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนงานคดีนั้น การจัดทำข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อให้อนุญาโตตุลาการถือปฏิบัติในการพิจารณาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ คณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ (UNCITRAL - The United Nations Commission on International Trade Law) ได้จัดทำข้อบังคับการอนุญาโตตุลาการที่เรียกว่า UNCITRAL Arbitration Rules 1976 (latest update 2010) เพื่อให้คู่พิพาทที่มีความประสงค์ที่จะดำเนินการเองสามารถนำ
ข้อบังคับดังกล่าวไปเป็นแนวปฏิบัติต่อไป
4. การอนุญาโตตุลาการโดยสถาบัน หากคู่พิพาทไม่ต้องการดำเนินการอนุญาโตตุลาการ สามารถเลือกใช้บริการของสถาบันการอนุญาโตตุลาการต่าง ๆ ได้ เพื่อความสะดวกทั้งงานด้านธุรการ และงานคดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคู่สัญญาจะกำหนดเอาไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการว่าประสงค์จะใช้บริการของสถาบันใดในการดำเนินการชั้นอนุญาโตตุลาการ
5. การอนุญาโตตุลาการภายในประเทศ เป็นกรณีที่ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติของคู่พิพาท สถานที่เกิดสัญญา เป็นต้น
6. การอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ในกรณีนี้หมายความถึง การอนุญาโตตุลาการระหว่าง
คู่พิพาทโดยความสมัครใจ ซึ่งการอนุญาโตตุลาการประเภทนี้ แม้จะดำเนินการในประเทศหนึ่ง
แต่มีองค์ประกอบบางส่วนหรือทั้งหมดเกี่ยวพันกับต่างประเทศ เช่น คู่พิพาทเป็นคนละชาติ คู่พิพาทเป็นคนชาติเดียวกันแต่ข้อพิพาทเกิดจากมูลเหตุระหว่างประเทศ หรือคู่พิพาทเป็นคนละชาติกันแต่ตกลงกันให้ทำการอนุญาโตตุลาการในประเทศที่สาม เป็นต้น
สถาบันทำอนุญาโตตุลาการที่สำคัญ
ในปัจจุบันคู่พิพาทมักจะเลือกใช้บริการอนุญาโตตุลาการของสถาบัน เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มีความพร้อมทั้งเรื่องสถานที่และอุปกรณ์ มีเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการด้านธุรการต่าง ๆ ให้คู่พิพาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันอนุญาโตตุลาการทุกแห่งจะมีข้อบังคับอนุญาโตตุลาการ (Arbitration Rules) เป็นของตนเอง ซึ่งมีข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ค่อนข้างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งและคัดค้านอนุญาโตตุลาการ กระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ การทำคำชี้ขาด ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายและค่าป่วยการต่าง ๆ ซึ่งคู่พิพาทจะได้รับความสะดวกในการดำเนินกระบวนการต่าง ๆ โดยไม่ต้องดำเนินการเอง โดยสถาบันอนุญาโตตุลาการที่สำคัญ มีดังต่อไปนี้
สถาบันอนุญาโตตุลาการที่สำคัญในประเทศไทย
1. สำนักอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ให้บริการอนุญาโตตุลาการ 2 รูปแบบ คือ
- การอนุญาโตตุลาการในศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 210 ถึง 220 และมาตรา 222
-การอนุญาโตตุลาการนอกศาลตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 และข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรม ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ
เว็บไซต์ http://www.tai.coj.go.th
การยื่นคำเสนอระงับข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลการ
2. สถาบันอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้านานาชาติ (ICC - Internaltial Chamber of Commerce)
ในประเทศไทยเรียกว่า สถาบันอนุญาโตตุลากรของสภาหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย ICC Thailand
ICC เป็นองค์กรเอกชนนานาชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อในปี พ.ศ. 2462 ปัจจุบันมีสมาชิกและเครือข่ายเป็นองค์กรธุรกิจหลายพันรายกว่า 130 ประเทศทั่วโลก โดยมีภารกิจหลักในการส่งเสริมการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ
สำหรับสภาหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 ด้วยความร่วมมือของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยเข้าเป็นสมาชิกของหอการค้านานาชาติ หรือ ICC โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยมีบทบาทโดยตรงในการร่วมกำหนดนโยบายทางการค้า และการลงทุนในเวทีโลก
นอกจากการเป็นผู้กำหนดและจัดทำกฎระเบียบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ICC ยังมีบทบาทระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ ผ่านทางศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของไอซีซี (ICC International Court of Arbitration) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2466 อีกด้วย
เว็บไซต์ www.iccthailand.or.th
3. สถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC - Thailand Arbitration Centre) ถูกจัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ. สถาบันอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2540 มีลักษณะเป็นองค์กรอิสระแยกต่างหากจากองค์กรของรัฐ โดยเป็นองค์กรที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน และส่งสเริมระบบอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และมีความเป็นอิสระและได้มาตรฐานสากลเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับองค์กรระงับข้อพิพาทในต่างประเทศ
เว็บไซต์ www.thac.or.th
สถาบันอนุญาโตตุลาการที่สำคัญต่างประเทศ
สถาบันอนุญาโตตุลาการประเทศสิงคโปร์ (SIAC - Singapore Internation Arbitration Centre) ถือได้ว่าเป็นสถาบันอนุญาโตตุลาการที่ได้รับการยอมรับเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เนื่องด้วยการมีข้อบังคับและหลักเกณฑ์ในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ชัดเจน ครอบคลุม รวดเร็ว อีกทั้งเป็นที่ยอมรับในเรื่องความเชี่ยวชาญพิเศษของบุคคลผู้ทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการในสาขาต่าง ๆ อีกด้วย
เว็บไซต์ http://www.siac.org.sg
ที่มารูปภาพจาก www.marketbusinessnews.com
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

@wcclawoffice