สรุปกฎหมายแรงงานที่ควรรู้ (ตอนที่ 1/3 "สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า")
- Waraporn T.
- Jun 21, 2018
- 1 min read

กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายที่มีความเกี่ยวพันกับการจ้างแรงงานภายในองค์กรธุรกิจที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งกฎหมายจะให้ความคุ้มครองลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นสำคัญเนื่องจากนายจ้างเป็นผู้มีอำนาจเหนือลูกจ้างจึงอาจกระทำการใด ๆ ที่เป็นการเอาเปรียบ หรือกลั่นแกล้งลูกจ้างจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งมีความซับซ้อนในขั้นตอนและลำดับการดำเนินการต่าง ๆ ก่อนที่นายจ้างจะบอกเลิกจ้างลูกจ้างให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานและข้อบังคับในการทำงานของบริษัท ตลอดจนขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณี ๆ ไป
ด้วยเหตุนี้ จึงได้ทำการสรุปประเด็นของกฎหมายแรงงานที่มีความสำคัญเพื่อให้ผู้ที่สนใจไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง หรือลูกจ้าง ได้เข้าใจหลักการและขั้นตอนพื้นฐานตามกฎหมายแรงงานได้อย่างถูกต้อง และสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
โดยจะขอแบ่งสรุปกฎหมายแรงงานที่ควรรู้ออกเป็น 3 ตอน ได้แก่
ตอนที่ 1 ว่าด้วยเรื่อง "สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า"
ตอนที่ 2 ว่าด้วยเรื่อง "ค่าชดเชย"
ตอนที่ 3 ว่าด้วยเรื่อง "การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม"
***********************************************************************
ตอนที่ 1
"สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า"
*เป็นเงินที่นายจ้างต้องรับผิดจ่ายให้แก่ลูกจ้างเนื่องจากเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ได้บอกล่วงหน้าให้ถูกต้อง (ฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 582 583 และพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17)
*กรณีสัญญาจ้างแรงงานไม่ได้กำหนดระยะเวลาจ้างไว้ ก่อนเลิกจ้างนายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งระยะจ่ายค่าจ้าง มิฉะนั้น ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
*ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ลูกจ้างทราบ เมื่อถึงหรือก่อนถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างโดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างถัดไป (แต่ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินกว่า 3 เดือน) ตัวอย่าง นายจ้างกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และ สิ้นเดือน หากจะเลิกจ้าง เช่น บอกเลิกจ้างเป็นหนังสือก่อนหรือในวันที่ 15 ซึ่งเป็นงวดจ่ายค่าจ้าง และให้ลูกจ้างอยู่ทำงานต่อจนถึงวันที่ 31 มีนาคม หลังจากนั้นจึงให้พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้าง ถือว่าบอกกล่าวล่วงหน้าโดยชอบแล้ว
-ระยะเวลาในการบอกกล่าวล่วงหน้ากำหนดจากระยะเวลาจ่ายค่าจ้างเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงอายุงานของลูกจ้าง -นายจ้างกับลูกจ้างจะตกลงกำหนดระยะเวลาบอกล่าวล่วงหน้าให้น้อยกว่าหนึ่งระยะจ่ายค่าจ้างไม่ได้
*กำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างที่ใช้เป็นเกณฑ์ เป็นไปตามข้อบังคับการทำงานและทางปฏิบัติของนายจ้าง “ตรงกัน” ก็ให้เป็นไปตามนั้น เช่น ข้อบังคับให้จ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามข้อบังคับ
*กำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างที่ใช้เป็นเกณฑ์ เป็นไปตามข้อบังคับการทำงานและทางปฏิบัติของนายจ้าง “ไม่ตรงกัน” ข้อบังคับให้จ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน นายจ้างจ่ายค่าจ้างในทางปฏิบัติทุกวันที่ 25 ของเดือน จะถือวันสิ้นเดือน หรือวันที่ 25 เป็นกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้าง (ฎ. 2377/2526) ข้อบังคับการทำงานกำหนดให้เงินเดือนในวันสุดท้ายของสิ้นเดือนแต่ละเดือน แต่ทางปฏิบัตินายจ้างอนุโลมจ่ายเงินเดือนทุกวันที่ 25 การปฏิบัติของนายจ้างเช่นนี้ไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาแต่อย่างใด ดังนั้น นายจ้างจะเลิกจ้างด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันสุดท้ายของเดือน เพื่อให้สัญญาจ้างเลิกกันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปก็ย่อมทำได้ แต่ถ้านายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างก่อนวันสิ้นเดือนหนึ่งวันเป็นประจำตลอดมา ย่อมถือได้ว่านายจ้างตกลงกับลูกจ้างให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องกำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างจากวันสิ้นเดือนเป็นวันก่อนสิ้นเดือนหนึ่งวันโดยปริยาย ดังนั้น ต้องถือว่ากำหนดเวลาจ่ายค่าจ้างคือวันก่อนสิ้นเดือนหนึ่งวัน มิใช่วันสิ้นเดือน (ฎ. 5147/2547)
*นายจ้างอาจเลิกจ้างโดยให้มีผลทันทีและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่วงล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับหากมีการบอกกล่าวล่วงหน้าก็สามารถทำได้
*หนังสือเตือนไม่ใช่หนังสือบอกกล่าวล่วงหน้า
(การบอกกล่าวล่วงหน้าต้องมีความชัดเจนว่านายจ้างต้องแสดงเจตนาไม่จ้างลูกจ้างให้ทำงานอีกต่อไป โดยให้สัญญาจ้างมีผลจบสิ้นลงในอนาคต)
กรณีเข้า “ข้อยกเว้น” ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
- ลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง
(คำสั่งที่ออกโดยผู้ที่มีอำนาจ / สั่งเกี่ยวกับงานในหน้าที่ของลูกจ้าง / เป็นคำสั่งที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีอยู่ และไม่พ้นวิสัยที่จะปฏิบัติ) - ลูกจ้างละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของนายจ้างเป็นอาจิณ
(ลูกจ้างไปทำงานสาย 9 ครั้ง ถูกเตือนแล้วยังมาสายอีก / ทอดทิ้งงานและละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน และนายจ้างเคยเตือนเป็นหนังสือแล้ว) - ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและเป็นเวลานานพอสมควร
(ฎ.2771/2530 ลูกจ้างไม่มาทำงานในวันที่ 8 และ 10 ซึ่งเป็นวันทำงาน โดยไม่ลาให้ถูกต้องตามระเบียบ ถือว่าลูกจ้างขาดงานและละทิ้งหน้าที่ / ลูกจ้างลาไม่ชอบแล้วยังหยุดงาน ถือว่าละทิ้งหน้าที่ (ลาเท็จ) / ลากิจให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา ต้องยื่นใบลาล่วงหน้าด้วยตนเอง และลาเมื่อได้รับอนุญาต การที่ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นเหตุอันไม่สมควร ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ / ลาป่วยเท็จ ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ / ลงเวลาเข้างานแต่ไม่ปฏิบัติงาน ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ - ลูกจ้างทำผิดร้ายแรง
(ทุจริตต่อหน้าที่ / กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นนายจ้างลูกจ้าง / กระทำความผิดอาญาที่ค่อนข้างร้ายแรง / ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในเรื่องสำคัญ) - ลูกจ้างกระทำการไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องและสุจริต (กระทำในสิ่งที่ลูกจ้างที่ดีทั่วไปไม่ถึงกระทำเช่นนั้น) (มาทำงานสายเป็นประจำทั้งที่ถูกเตือนแล้ว ถือว่ากระทำการไม่สมควร / มาทำงานสาย แล้วลงเวลาว่าทำงานทันเวลา ถือว่ากระทำการไม่สมควร / ทำรายงานเท็จ ถือว่ากระทำการไม่สมควร / ไม่ได้มาทำงานเนื่องจากลา แต่ทำรายงานว่าปฏิบัติหน้าที่ ถือว่ากระทำการไม่สมควร / ฝ่าฝืนระเบียบหลายประการ ถือว่ากระทำการไม่สมควร) - ลูกจ้างทุจริตหรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง - ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย - ลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง - ลูกจ้างทำผิดซ้ำคำเตือน (ฝ่าฝืนข้อบังคับนั้นอีกภายใน 1 ปี นับแต่วันที่กระทำผิดครั้งที่ออกหนังสือเตือน นายจ้างอาจเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า) - ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
- ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก - เลิกจ้างเพราะขาดคุณสมบัติ เลิกจ้างเพราะเกษียณอายุ ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

@wcclawoffice