top of page
  • Line
Search

สรุปกฎหมายแรงงานที่ควรรู้ (ตอนที่ 3/3 "เลิกจ้างไม่เป็นธรรม")


ตอนที่ 3

"เลิกจ้างไม่เป็นธรรม"

"เลิกจ้างไม่เป็นธรรม" หมายถึง การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุ หรือแม้มีสาเหตุอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่จำเป็น หรือสมควรจนถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้างนั้น

(พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49)

*การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่จะต้องพิจารณาจากสาเหตุของการเลิกจ้างเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่จ่ายค่าชดเชยจะถือเป็นเด็ดขาดว่า นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้ เพราะความรับผิดในเรื่องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเป็นเรื่องผลของการเลิกจ้าง ไม่ใช่สาเหตุของการเลิกจ้าง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 นั้น จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุอันเป็นมูลให้มีการเลิกจ้างว่าเป็นสาเหตุที่สมควรหรือไม่ การไม่จ่ายค่าชดเชยมิใช่เป็นสาเหตุแห่งการเลิกจ้าง การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่ ไม่ได้อยู่ด้วยเหตุที่ว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เพราะการไม่จ่ายค่าชดเชยนั้น เป็นผลที่ตามมาภายหลังจาการเลิกจ้างแล้ว (ฎ.4064/2530)

กรณีถือว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

-เลิกจ้างเพราะลูกจ้างฉีกหนังสือเตือน ถือว่าไม่เป็นธรรม

-เลิกจ้างเพราะลูกจ้างทำผิดครั้งแรก ถือว่าไม่เป็นธรรม

-ลูกจ้างชายหญิงเกษียนอายุไม่เท่ากัน ถือว่าไม่เป็นธรรม

-เลิกจ้างเพราะลูกจ้างทำผิดระเบียบไม่ร้ายแรงและไม่ทุจริต ถือว่าไม่เป็นธรรม

-เลิกจ้างโดยไม่มีสาเหตุ ถือว่าไม่เป็นธรรม

-เลิกจ้างเพราะลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งไม่ร้ายแรง ถือว่าไม่เป็นธรรม

กรณีไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

-ลูกจ้างทุจริต มีมลทินมัวหมองไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุนี้ ถือว่าเลิกจ้างเป็นธรรม

-ลูกจ้างหย่อยสมรรถภาพในการทำงาน มีผลงานไม่ดี มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ป่วยหรือขาดงานมาก หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน จนนายจ้างไม่อาจจ้างไว้ทำงานได้ ถือเป็นการเลิกจ้างเป็นธรรม

*ลูกจ้างทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูง แต่ขาดวุฒิภาวะในการเป็นผู้บริหารระดับสูง ใช้อารมณ์ฉุนเฉียว ทำให้เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง ลาออก 2/4 คน เพราะไม่สามารถทนทำงานด้วยได้ คุณสมบัติในการเป็นผู้บริหารและความสามารถในการบังคับบัญชา บริหารจัดการภายในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของลูกจ้าง การที่ลูกจ้างไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมจนเป็นเหตุให้เลิกจ้าง โดยไม่ ปรากฏว่านายจ้างกลั่นแกล้ง ไม่ถือว่าเลิกจ้างเป็นธรรม (ฎ. 15348/2558)


*นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะไม่สามารถปฏิบัติงานเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ เมื่อลูกจ้างทำงานในระดับบริหาร ต้องประสานงานกับบุคลากรในส่วนงานอื่น ๆ ในระดับเดียวกัน แต่ลูกจ้างปฏิบัติงานเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ แม้นายจ้างจะโยกย้ายลูกจ้างไม่ส่วนงานอื่น ลูกจ้างก็ยังทำงานในลักษณะเดิมโดยมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานอีก แสดงให้เห็นว่าลูกจ้างน่าจะเป็นผู้ขาดมนุษย์สัมพันธฺที่ดี ไม่สามารถประสานงานกับบุคลากรในส่วนงานอื่น ๆ ได้ ย่อมทำให้เกิดความขัดข้องในการบริหารจัดการของนายจ้าง จึงมีเหตุอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้ ไม่ถือว่าเลิกจ้างเป็นธรรม (ฎ.7075/2545)

-ลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีร้ายแรง กระทำการเป็นปฎิปักษ์ต่อนายจ้าง ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายร้ายแรง หรือมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมถึงขนาดที่ไม่สมควรให้ลูกจ้างทำงานต่อไป ถือว่าเลิกจ้างเป็นธรรม

-นายจ้างเลิกจ้างเพราะมีความจำเป็น หรือเป็นไปตามผลของกม. ถือว่าเลิกจ้างเป็นธรรม

-นายจ้างเลิกจ้างตามข้อตกลง หรือตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน ถือว่าเลิกจ้างเป็นธรรม

-นายจ้างเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างตามที่ได้รับอนุญาติจากศาลแรงงาน ถือว่าเลิกจ้างเป็นธรรม

“ผล” ของการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม

ลูกจ้างมีสิทธิฟ้องต่อศาลแรงงาน เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 คือ

1. สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน

2. สั่งให้นายจ้างใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม (เป็นดุลยพินิจของศาล)

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง


@wcclawoffice


www.wcclawoffice.com

© 2016-2023 by W Corporate Consultants, Thailand.

bottom of page